วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

                โครงงานเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เพิ่มพูนความรู้ทักษะพัฒนาความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างชำนาญ และได้บูรณาการหลาย ๆ สาระวิชาเข้าด้วยกัน ในการนำโครงงานมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน  ซึ่งในทศวรรษที่ผ่านมามีการนำโครงงานมาใช้และค่อยๆ พัฒนาจนได้รับการยอมรับเป็นกลวิธีการสอนอย่างเป็นทางการ การจัดการเรียนรู้ด้วยโครงงานได้เข้ามามีส่วนสำคัญในห้องเรียนเมื่อมีงานวิจัยมาสนับสนุนสิ่งที่ครูได้เชื่อมั่นมายาวนานก่อนหน้านี้ว่านักเรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้นเมื่อมีโอกาสได้ค้นคว้าในสิ่งที่ซับซ้อน ท้าทายหรือในบางครั้งเป็นประเด็นปัญหายุ่งยากที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้ การจัดการเรียนรู้ด้วยโครงงานเป็นรูปแบบวิธีสอนที่จะนำนักเรียนเข้าสู่การแก้ปัญหาที่ท้าทายและสร้างชิ้นงานได้สำเร็จด้วยตนเอง โครงงาน ที่จะมาช่วยสร้างสภาวะการเรียนรู้ภายในชั้นเรียนจะเกิดได้ในหลายกลุ่มสาระการเรียนรู้ในหลายเนื้อหาและในหลายระดับช่วงชั้น โครงงานจะเกิดขึ้นบนความท้าทายจากคำถามที่ไม่สามารถตอบได้จากการท่องจำ  โครงงานจะสร้างบทบาทหลากหลายขึ้นในตัวนักเรียน นักเรียนเป็นผู้แก้ปัญหา ตัดสินใจ เป็นนักค้นคว้า นักวิจัย โครงงานจะตอบสนองวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงทางการศึกษาซึ่งไม่ใช้สิ่งที่แปลกแยกหรือเพิ่มเติมลงไปในหลักสูตรเนื้อหาที่แท้จริง

จุดประสงค์สำคัญในการกำหนดให้มีกิจกรรมโครงงานก็คือ
             1. ผู้เรียนสามารถจำแนกประเภทข้อมูล เปรียบเทียบและมีความคิดรวบยอดเกี่ยวกับโครงงาน
             2. ผู้เรียนสามารถประเมินค่าความน่าเชื่อถือของข้อมูล รู้จักพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย ความถูก-ผิด
อย่างสมเหตุสมผล                             
            3. ค้นหาคำตอบ เลือกวิธีและมีปฏิภาณในการแก้ปัญหา และตัดสินใจได้อย่างสันติ และมีความถูกต้องเหมาะสม
            4. มีความคิดริเริ่ม มีจินตนาการ สามารถคาดการณ์และกำหนดเป้าหมายได้
            5. มีความกระตือรือร้น สนใจการเรียนรู้จากแหล่งต่างๆ รู้จักตั้งคำถามเพื่อหาเหตุผล
            6.  สามารถใช้ห้องสมุด แหล่งความรู้และสื่อต่างๆ ทั้งในและนอกสถานศึกษาเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหาแบบโครงงาน
            7. สามารถสรุปประเด็นจากการเรียนรู้และประสบการณ์ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมด้วยตนเอง
            8. สามารถทำงานตามลำดับขั้นตอนเพื่อให้ได้ผลงานที่มีประสิทธิภาพตามต้องการ
            9. ขยัน อดทน รอบคอบในการทำงานอย่างมีความสุขและภูมิใจในงานของตนเอง
           10. สามารถทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่เอาเปรียบ ให้ความร่วมมือ ยอมรับฟังความคิดเห็น     ร่วมรับผิดชอบผลงานของกลุ่ม
ประโยชน์ของการเรียนรู้ด้วยโครงงาน
             การเรียนรู้ด้วยโครงงานจะมีประโยชน์ที่หลากหลายทั้งต่อครูและนักเรียน ในการที่จะช่วยสร้าง     องค์ความรู้จากการค้นคว้า มีผลงานวิจัยเพิ่มมากขึ้นที่รับรองว่าการเรียนรู้ด้วยโครงงานจะทำให้นักเรียนมีส่วนร่วม ลดการขาดเรียน เพิ่มทักษะในการเรียนรู้แบบร่วมมือและช่วยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพิ่มอัตราการเข้าเรียน เสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง และพัฒนาทัศนคติเชิงบวกต่อการเรียนรู้ เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดการเรียนรู้แบบอื่นแล้ว ผลสัมฤทธิ์มีค่าเท่ากับหรือสูงกว่า หากผู้เรียนได้มีส่วนรับผิดชอบในการทำโครงงาน เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาทักษะที่ซับซ้อน เช่น ทักษะการคิดขั้นสูง การแก้ปัญหา การทำงานแบบร่วมมือและมีการสื่อสารกัน 
             ประโยชน์ที่ได้รับสำหรับครูนอกจากจะเป็นการพัฒนาคุณภาพด้านวิชาชีพแล้ว ยังช่วยให้เกิดการทำงานแบบร่วมมือกับเพื่อนครูด้วยกัน รวมทั้งโอกาสที่จะได้สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียนด้วย  นอกจากนั้น ยังมีครูอีกมากที่รู้สึกยินดีที่ได้ค้นพบรูปแบบวิธีสอนที่เหมาะสมกับความหลากหลายของนักเรียนด้วยการเปิดโอกาสในการเรียนรู้ในชั้นเรียน การสอนโดยตรงที่ต้องพึ่งพาตำราเรียน การสอนแบบบรรยายและการสอบแบบเดิมๆ อาจไม่ได้ผลตามที่คาดหากเทียบกับโลกแห่งการเรียนรู้ด้วยโครงงานที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกันหลายกลุ่มสาระ โดยครูเองก็ต้องให้เวลานักเรียนในการทำโครงงานเพื่อให้นักเรียนพยายามทำโครงงานให้สำเร็จตามเวลา  ซึ่งในขณะทำโครงงานครูอาจกำลังเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับนักเรียนได้เช่นเดียวกัน